นายไพศาล ธรสารสมบัติ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ค้าเหล็กไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศโดยคาดว่าจะเติบโตในอัตรามากกว่า 10% หรือปริมาณ 9.9 ล้านตัน จากปีที่ผ่านมามีประมาณการใช้เหล็กอยู่ 9 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 30% ที่มีมูลค่าประมาณ 13 ล้านตัน ซึ่งในปีที่ผ่านมาภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็ก ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
"ปีที่แล้วมาตรการภาครัฐที่มีออกมา ได้ส่งผลช่วยให้อุตสาหกรรมไม่แย่ไปกว่านี้ และยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อเนื่องมาถึงปีนี้ด้วย จากโครงการงบไทยเข้มแข็ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่เริ่มประมูลกันออกมาและมีการเซ็นสัญญาบ้างแล้ว การก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งภาคการส่งออก การเตรียมขยายกำลังการผลิตของเอกชนรองรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนปัญหามาบตาพุดเชื่อว่านับจากนี้อีก 8 เดือนคงจะดำเนินการได้ ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เอง ก็เริ่มมีการก่อสร้างมากขึ้นจากที่ชะลอการพัฒนาโครงการในปีที่ผ่านมา"
ด้านนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG กล่าวว่า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปีที่ผ่านมามีการเติบโตในอัตรา 1% จากปีก่อนหน้า และนับเป็นปีแรกที่ตลาดเริ่มเป็นบวก หลังจากที่เติบโตติดลบมาตลอดระยะเวลา 4 ปี ซึ่งเป็นผลจากโครงการไทยเข้มแข็งที่ทำให้ตลาดเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้วที่ตลาดเติบโตเป็นบวกในอัตรา 7% และในอัตรา 13% ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งโดยปกติปูนซีเมนต์ที่เกี่ยวข้องกับงานโครงสร้างพื้นฐานจะมีสัดส่วนประมาณ 32% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 37%
"ปีที่แล้วสัดส่วนการใช้ปูนซีเมนต์ในกลุ่มธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะในส่วนของคอมเมอร์เชียล ประเภทการก่อสร้างโรงงาน ธุรกิจค้าปลีก อาคารให้เช่า ลดลงอย่างชัดเจน จากสัดส่วน 18% เหลือเพียง 14% ขณะที่งานอินฟราสตรักเจอร์กลับเพิ่มขึ้นสูงอย่างชัดเจน ถือเป็นความสำคัญของโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมา ส่วนปีนี้แม้ว่าจะยังไม่เห็นโครงการใหญ่ๆ ออกมามากนัก ยังเป็นโครงการเล็กๆ ที่กระจายอยู่ต่างจังหวัด แต่ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนสัญญาที่ 2 ก็เซ็นแล้วด้วย คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังคงเห็นการใช้คอนกรีตเพิ่มมาขึ้น ส่วนปัญหาทางด้านการเมืองคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้แล้ว"
ขณะที่นายประทีป ทีปกรสุขเกษม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ CCP กล่าวว่า ได้เซ็นสัญญากับ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จให้กับบริษัท ซิโน-ไทยฯ เป็นมูลค่า 600 ล้านบาท หรือประมาณ 4.5-5 แสนคิว เพื่อใช้สำหรับโครงการก่อสร้างงานสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างโครงสร้างยกระดับ (ส่วนตะวันตก) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่มีมูลค่า 13,100 ล้านบาท โดยทางบริษัทยังได้เซ็นสัญญาซื้อปูนซีเมนต์ผงกับบริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)
ด้านนายวัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC กล่าวว่า ในปีนี้ทางบริษัทตั้งเป้าหมายการรับรู้รายได้ 10,000-12,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่มีกำไรที่ดีขึ้นคาดว่าปีนี้จะมีกำไร 5% จากปีที่ผ่านมามีกำไร 4% โดยปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณงานกว่า 37,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการรับงานใหม่ 20,000 ล้านบาท และงานเก่าในมือ (Backlog) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและทยอยส่งมอบอีก กว่า 17,000 ล้านบาท และยังมีงานที่อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาอีก 4 โครงการรวมมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท เช่น อาคารศาลฎีกา มูลค่า 2,300 ล้านบาท และระบบท่อส่งน้ำ จันทบุรี มูลค่า 1,200 ล้านบาท
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า แนวโน้มการได้งานใหม่ของบริษัท คาดว่าจะได้รับผลดีจากโครงการภาครัฐ โดยได้ปรับเพิ่มสัดส่วนงานภาครัฐเป็น 70-75% ซึ่งนอกเหนือจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่ - ราษฎร์บูรณะ ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างยกระดับ (ฝั่งตะวันตก) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม.รวมระยะทาง 11 กม. รวมสถานี 8 แห่ง มูลค่าโครงการกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทแล้ว บริษัทยังให้ความสนใจในการเสนอราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มูลค่ารวมกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้แบ่งออกเป็น 5 สัญญา ซิโน-ไทย จะเข้าร่วมประมูลทุกสัญญา คาดว่าจะต้องจอยต์เวนเจอร์เพื่อเข้าร่วมประมูลสัญญาที่ 1 และ 2 เนื่องจากบริษัทผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีประสบการณ์ในการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินขนาดใหญ่
"โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายโดยเร็วโดยเฉพาะ โครงการงบไทยเข้มแข็งและงบประมาณประจำปี ซึ่งเป็นงานก่อสร้างประเภท ถนน อาคาร และสะพาน และงบประมาณประจำปี รวมถึงงานภาคเอกชนเช่นงานของรัฐวิสาหกิจ งานโรงพยาบาล และสถานการศึกษาต่างๆ ซึ่งบริษัทก็ให้ความสนใจทุกโครงการ แต่จะเป็นอะไรก่อนหลังนั้นขึ้นอยู่กับว่ามีโครงการไหนมีการเปิดประมูลออกมาก่อน แต่หากโครงการภาครัฐออกมาช้าหรือมีปัญหา บริษัทก็อาจจะปรับไปรับงานเอกชนมากขึ้นได้"
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ 8/02/2553