สร้างบ้านอย่างไร ให้เสียหายจากภัยน้ำท่วมน้อยที่สุด

สร้างบ้านอย่างไร ให้เสียหายจากภัยน้ำท่วมน้อยที่สุด

ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ต้องประสบภัยจากน้ำท่วมซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่อยู่กับเรามาหลายร้อยปีแล้ว แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ไม่วายที่จะต้องเคยประสบชะตาเดียวกัน คือโดนธรรมชาติเล่นงานเอา ถ้ายังจำได้กับน้ำท่วมใหญ่ของสหรัฐอเมริกาปี 2005 ที่ถูกพายุเฮอร์ริเคน Katrina ที่เล่นเอาหลายเมืองในหลายรัฐของอเมริกาพังราบไปกับน้ำได้เห็นคนอเมริกกันในรัฐ Louisiana ต้องขึ้นไปนั่งอยู่บนหลังคาไม่ต่างกับน้ำท่วมเมืองไทย สร้างความเสียหายไปนับแสนล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อปีที่แล้ว (2010) นี่เอง หลายประเทศในยุโรปก็เพิ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อฝนตกหนักและน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นขึ้นมาท่วมบ้านเมืองเสียหายไปหลายเมือง

หลังจากเหตุการณ์ Katrina รัฐบาลอเมริกัน ก็คิดใหม่ ทำใหม่ ยกเครื่องแผนบริหารจัดการน้ำกันใหม่ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเมืองที่เสียหาย มีการกำหนดเขตพื้นที่ความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมขึ้น จัดทำแผนที่แสดงเขตเสี่ยงภัยและ ชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่ทราบว่า พื้นที่ของตัวเองมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมระดับใดซึ่งมันจะไปมีผลกับการคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยด้วย มีการจัดระเบียบผังเมือง มีการออกกฏหมายควบคุมการสร้างอาคารที่เข้มงวด เช่น ถ้าเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูง บ้านที่จะสร้างได้ต้องเป็นแบบเฉพาะเท่านั้น หรือลากเส้นตีเขตกำหนดให้เป็นพื้นที่ระบายน้ำ (floodway) ห้ามปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ

แต่ทั้งหมดที่พูดมา มันเป็นการเตรียมพร้อมรับมือน้ำในระดับจังหวัด ระดับประเทศ ไปจัดการ แต่การเตรียมความพร้อมสเกลเล็กๆ ที่เจ้าของบ้านอย่างเราที่รู้หรืออาจจะยังไม่รู้ตัวว่า บ้านของคุณอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือไม่ (มาถึงวันนี้หลายคนคงรู้แล้วว่า บ้านตัวเองอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือขวางทางน้ำหรือเปล่า)สามารถทำได้เอง ไม่ต้องรอใคร ก็คือ การพิจารณาถึงการก่อสร้างบ้านที่ลดความเสียหาย ความรุนแรงของน้ำท่วม และยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในภาวะที่เกิดน้ำท่วมได้

เท่าที่อ่านมา (ส่วนใหญ่ก็จะเป็นของ FEMA) ก็สรุปได้ว่า หากเราต้องการจะสร้างบ้านใหม่ให้เกิดความเสียหายหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ก็ควรจะคำนึงถึง 4 ปัจจัยหลักดังนี้

ปัจจัยในการพิจารณาในการสร้างบ้านที่จะลดความเสียหายจากน้ำท่วม

Sitting หรือ foundation เป็นโชคดีของบ้านไทยที่จะส่วนใหญ่จะ ลงเสาเข็มในดินอยู่แล้ว ต่างจากบ้านในต่างประเทศที่จะอาศัยเพียงการวางโครงบ้านลงบนดิน พอน้ำมาก็กวาดลอยไปทั้งหลังเหมือนที่เคยเห็นตามข่าว บ้านไทยเรามีเสาเข็มปักลึกลงไปในดินเพราะกลัวปัญหาเรื่องดินอ่อนตัวแต่ก็เป็นผลพลอยได้กับการลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้ ดังนั้น ถ้างานรากฐาน โครงสร้างบ้านแข็งแรงดี น้ำมาก็ไม่มีปัญหาบ้านล้มถล่ม หรือลอยไปตามน้ำ จะมีก็แต่ปัญหาน้ำผุดขึ้นกลางบ้านอย่างที่เป็นข่าวกัน

Design

เรื่อง design นี้ก็จะครอบคลุมงานสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายใน ซึ่ง AKANEK ก็มีรูปตัวอย่าง บ้านหนีน้ำสวยๆ มาให้ดูกัน

  • บ้านยุคเก่าทรงสูงชะลูด ยกพื้นสูง เปิดทางให้น้ำไหลผ่านใต้ถุนแบบไม่เดือนร้อนคนบนบ้าน
  • บ้านยุคใหม่สร้างบ้านเตี้ยลง ประตูเตี้ยหรืออยู่ในระดับเดียวกับพื้นดิน พอน้ำมาก็เข้าไปเยี่ยมเยียนคนในบ้านได้ไม่ยาก
  • บ้านยุคน้ำท่วม ต้องย้อนกลับไปใช้ภูมิปัญญาปู่ย่าตายายที่ทำกันมาเป็นร้อยปีแล้ว ที่ยกใต้ถุนสูง โล่งแทนการสร้างติดพื้น พอฤดูน้ำหลากก็ปล่อยให้น้ำลอดผ่านใต้ถุนไป พอหน้าแล้งก็ใช้สอยเป็นพื้นที่เก็บของ จอดรถ พื้นที่อื่นๆ หรือ สร้างบ้านที่สามารถเปลี่ยนเป็นบ้านลอยน้ำได้เมื่อเกิดน้ำท่วม และอาจต้องเผื่อพื้นที่ระเบียงนอกชานไว้ด้วย ในช่วงที่น้ำท่วมสำหรับกิจกรรมบางอย่างที่ต้องย้ายจากด้านล่างขึ้นมาข้างบน เช่น ลานซักล้าง ตากผ้า ยังรวมไปถึงงานตกแต่งภายใน ที่อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เผื่อไว้ต้อนรับน้องน้ำที่จะอาจจะมาเยี่ยมได้ตลอดเวลา
  • บ้านยุคเก่า ตำแหน่งปลั๊กไฟ จะอยู่ระดับแขนของเรา เน้นใช้งานง่ายเป็นหลัก
  • บ้านยุคใหม่ ปลั๊กไฟกลายเป็นเหมือนเนื้องอกของบ้าน ต้องย้ายมันให้พ้นสายตา ถูกจับย้ายด่วนลงไปข้างล่างเพื่อความสวยงาม
  • บ้านยุคน้ำท่วมคงต้องย้ายมันกลับขึ้นไปในตำแหน่งเดิมหรืออาจจะสูงกว่าเดิมก็เป็นได้ ป้องกันอันตรายจากไฟรั่ว ไฟซ็อตได้
  • บ้านยุคน้ำท่วม ถ้ายกพื้นไม่สูงมาก อาจต้องทำช่องระบายลมและน้ำ ไว้ที่ด้านล่างของผนังเพื่อเป็นทางออกของน้ำ ออกแบบตำแหน่งหรือพื้นที่ว่างปั๊มน้ำ คอมเพรสเซอร์แอร์ ใหม่ จากตั้งชั้นล่างอาจต้องย้ายขึ้นไปชั้นบน

Construction เรื่องความรู้เทคนิคการก่อสร้างการก่อสร้างไทยมีการพัฒนาที่ไม่ค่อยขยับไปไหนมานานแล้ว บ้านเมื่อ 20 ปีที่แล้วเคยสร้างอย่างไร ทุกวันนี้เครื่องไม้เครื่องมือก็ยังหน้าตาเหมือนเดิม เทคนิควิธีการก็ยังเหมือนเดิม ยังไม่ค่อยเห็นอะไรใหม่ๆ ที่จะมาช่วยย่นระยะเวลาการทำงานและลดการทำงานของคนเลย เคยดูสารคดีที่เขาย้ายบ้านหลังโตๆ ทั้งหลังใช้คนงานไม่ถึง 10 คน แต่หนักไปทางเครื่องมืออุปกรณ์ทุ่นแรงเนื่องจากค่าแรงของฝรั่งค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับค่าอุปกรณ์ กลับตาลปัตรกับบ้านเราที่ค่าแรงถึงจะไม่ถูกแต่ก็ถูกกว่าเครื่องมือ เพราะฉะนั้นสร้างบ้านหลังหนึ่งจึงมีคนงานมารุมกันไม่ต่ำกว่า 20 คน

เพราะฉะนั้น ในกรณีการก่อสร้างเพื่อรับมือกับน้ำ เรื่องของเทคนิคการก่อสร้างอาจถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแล้วเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตัวบ้าน เช่น เทคนิคการก่อผนังรับแรงที่จะกระจายแรงปะทะออกด้านข้างไม่ทำให้บ้านถล่มแตกร้าว ดูความลาดเอียงของท่อระบายน้ำให้อยู่ในระดับที่ระบายน้ำได้เร็ว ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ ในกรณีโดนน้ำโอบล้อมจนต้องตัดไฟตัดน้ำ ระบบประปาไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล ท่อน้ำทิ้ง บ่อพักต้องมีการออกแบบให้รับมือกับน้ำท่วมสูงได้ หรือเตรียมลู่ทางป้องกันในกรณีเกิดน้ำท่วม

Material ปัจจัยสุดท้ายนี้จะมาคู่กับ Construction พอมีเทคนิคใหม่ๆ ก็จะต้องใช้คู่กับวัสดุใหม่ๆ แต่วัสดุก่อสร้างทุกอย่างก็มีข้อจำกัดในตัว ถึงจะสร้างขึ้นมาเพื่อรับมือกับน้ำก็ต้องมีจุดที่ไม่สามารถรับไหวได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ถ้าน้ำท่วมไม่สูงและแช่ขังอยู่ไม่เกิน 2 สัปดาห์ก็เป็นไปได้ว่า วัสดุก่อสร้างใหม่ๆ นี้ก็อาจจะเอาบ้านอยู่ แต่ถ้าน้ำท่วม สูง 2 เมตร นาน 2 -3 เดือน ก็ให้ทำใจเถอะว่า เอาไม่อยู่แน่ๆ คิดเสียว่าเราจะได้ตกแต่งบ้านใหม่กันอีกที หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจจะลองพิจารณาย้ายที่อยู่อาศัยให้พ้นทางน้ำไปเลย

ปัจจัยที่เพิ่มเติมเข้ามาเมื่อคิดจะสร้างบ้านใหม่นี้จะเป็นการเข้ามาผ่อนหนักให้เป็นเบาเมื่อเกิดน้ำท่วม เป็นการเตรียมการที่ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นอีก เพราะคงไม่มีใครคาดคะเนได้ว่า ปีหน้า ปีต่อไปหรือปีไหนๆ น้ำจะท่วมหรือไม่ จะท่วมสูงแค่ไหนหรือท่วมขังอยู่นานเท่าไร ถ้าเราหาทางตั้งรับไว้ก่อนก็จะช่วยลดหรือบรรเทาความเสียหายได้บ้างก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรแล้วรับตำแหน่งผู้ประสบภัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ด้วยความจำยอม

แล้ว AKANEK จะกลับมาขยายความ ปัจจัยแต่ละตัวที่ใช้พิจารณาในการสร้างบ้านในยุคที่น้ำท่วมเป็นเรื่องใกล้ตัว ทีละข้อ หรือเราอาจจะได้ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาให้คำตอบเราก็เป็นได้

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก : community.akanek.com