เปิดจุดอ่อนแผนรับมือน้ำท่วมปี55รัฐบาลยิ่งลักษณ์

เปิดจุดอ่อนแผนรับมือน้ำท่วมปี55รัฐบาลยิ่งลักษณ์


วิเคราะห์จากการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมปี2555 นายกฯยิ่งลักษณ์ไปพูดในรายการ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน"  เมื่อวันที่  4 กุมภาพันธ์    โดยระบุ แผนแม่บทใหญ่ในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนรายจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ซึ่งการบริหารจัดการน้ำต้องคำนวณทั้งปริมาณน้ำในเขื่อน ปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำค้างทุ่ง พร้อมจัดเตรียมแผนป้องกันตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่แบ่งงานกันระหว่างกรุงเทพมหานคร และกองทัพ ในการขุดลอกคูคลอง และเชื่อมโยงทางน้ำในคลองต่างๆ ให้ทั่วถึง ตลอดจนป้องกันเขตเศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรม ควบคู่กับแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการเชื่อมแม่น้ำในพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ ภายใต้วงเงินประมาณ 3.5 ล้านบาท  ซึ่ง การดำเนินการทั้งหมดต้องให้เรียบร้อยก่อนน้ำมาอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 13-17 กุมภาพันธ์นี้  จะลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อติดตามการดำเนินงานซ่อมแซมเขื่อน พนังกั้นน้ำที่เสียหายจากอุทกภัยคราวที่แล้ว รวมถึงทิศทางการระบายน้ำ และการอนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาประชาชน

ถามว่า การเตรียมการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ น่าไว้วางใจได้เพียงใด คงต้องไปวิเคราะห์กันตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเช่นกัน เริ่มจากแนวคิดในการแก้ไขปัญหา ซึ่งรัฐบาลเน้นเรื่องเงินกู้ก้อนโตมากกว่าแผนและการปฏิบัติการในการป้องกันน้ำท่วม ก็เลยดูว่า เบาปัญญาไปหน่อย แต่ไม่เป็นไร เรื่องนี้ แค่ปรับจากเห็นเงินเป็นพระเจ้า บันดาลทุกสิ่งมาเป็นใช้สมองและสองมือให้มากขึ้น ก็แก้ไขได้แล้ว

สำหรับการจัดทำแผนแม่บทแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยมีแผนเฉพาะหน้าที่จะเร่งทำกันก็คือ เตรียมทำทางน้ำไหลผ่านเพื่อระบายไปลงทะเลให้เร็ว โดยทยอยกันไป ไม่ให้มีการกั้นจนทำให้น้ำยกตัวสูงอีกแล้ว เรื่องนี้ นายกฯจะนำทีมครม.และข้าราชการไปดูยังพื้นที่จริงตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

จริงๆแล้ว หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คงไม่มีปัญหา น้ำไม่น่าท่วมหนักเหมือนปี 2554 แต่ปัญหาก็คือ ระบบการพยากรณ์อากาศเพื่อคาดการณ์ล่วงหน้าของไทยยังล้าสมัยมาก รัฐบาลตั้งแต่ตัวนายกฯไปถึงรัฐมนตรีและข้าราชการทั้งหมด ต่างพูดถึงเรื่องนี้มาตลอด และนี่ก็คือ จุดอ่อนสำคัญของแผนแก้น้ำท่วมหลายแสนล้านของรัฐบาล

เพราะตราบใดที่คาดการณ์สภาพอากาศไม่ได้ชัดเจน เงินหลายแสนล้าน ตลอดจนพลังมันสมองที่ระดมกันเข้าไปจัดทำแผนแม่บท ลูกบท รวมถึงการปฏิบัติการทั้งหมดของรัฐบาล ก็เท่ากับสูญเปล่า ไม่มีค่าอะไร หากพายุเข้าถล่มไทยจนทำให้ปริมาณน้ำมากกว่าที่เราคาดการณ์กันเอาไว้ ทุกอย่างจะพังพินาศไม่มีชิ้นดี

ฉะนั้น เรื่องระบบการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า จึงถือเป็นหัวในของปัญหานี้ที่ต้องหาทางแก้ไขก่อนเพื่อน ไม่ใช่ไปเน้นเรื่องแผน เงิน และการปฏิบัติอย่างเดียว แต่การคาดการณ์ก็ถือว่า สำคัญพอๆกัน

จริงๆแล้วองค์ความรู้และการวางระบบพยากรณ์อากาศของต่างประเทศน่าจะทันสมัยกว่าของไทย หากไม่มีการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันให้เร็ว เพื่อเตรียมการรับมือภาวะผันผวนของสภาพดินฟ้าอากาศ ก็ยังคงวางใจแผนรับมือน้ำท่วมของรัฐบาลไม่ได้เด็ดขาด

เพราะแค่มีพายุมากกว่าปีที่แล้ว แผนและเงินของรัฐบาลที่ทุ่มไปเพื่อการนี้ ก็ไร้ค่าเสียแล้ว

แหล่งที่มา : ฝ่ายวิเคราะห์ข่าวนสพ.อารยะ