หากจะหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ข้อหนึ่งมาสนับสนุนความคิดที่ว่า ทำไมช่วงเวลาฤกษ์งามยามดีในการลงเสาเอกของบ้านมักจะเป็นช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม ก็น่าจะเป็นเพราะว่าหลังจาก ลงเสาเอกในช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม การก่อสร้างก็มักจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนกันยายนซึ่งเป็นระยะเวลาที่ฝนเริ่มทิ้งช่วง และย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสะดวกในการทำงาน และมีระยะเวลามากพอที่จะสร้างบ้านให้เสร็จก่อนที่ฤดูฝนปีหน้าจะมาถึง

ฝน ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากที่สุดในการก่อสร้างหรือต่อเติมบ้าน แต่เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ ที่ต้องทำการก่อสร้างหรือปรับปรุงบ้านตอนหน้าฝน เจ้าของบ้านควรเตรียมตัวรับมือกับปัญหา หรือเตรียมพร้อมสำหรับการป้องกันปัญหาอย่างไรบ้าง 

คิดจะ “สร้างบ้าน” หน้าฝน ต้องสนใจอะไรบ้าง

ในที่สุด “ฤดูฝน” ที่รอคอยก็มาถึง อากาศร้อนๆ แดดเปรี้ยงๆ จะได้บรรเทาเบาบางลงไปบ้าง สำหรับเราอาจจะชอบฤดูฝนเพราะอากาศเย็นสบาย แต่ถ้าเป็นเรื่องการสร้างบ้านในหน้าฝนล่ะ อาจไม่ได้หมูหรือชิลอย่างที่เราคิดก็ได้ ลองมาดูกันไหมว่าถ้าเราต้องสร้างบ้านหน้าฝนมีเรื่องอะไรที่เราต้องคิดและคำนึงถึงบ้าง

  1. ส่วนที่อยู่ใต้ดิน : ฝนตก น้ำจะไปไหน ก็ไหลลงดินไปนั่นเอง น้ำพวกนี้จะส่งผลกระทบต่องานก่อสร้างที่อยู่ใต้ดิน เช่น งานทำฐานราก หรือถังเก็บน้ำใต้ดิน
    • ฐานราก ขณะก่อสร้างช่วงฝนตกจะมีน้ำขังก็ต้องสูบน้ำออกไปทิ้ง การขุดดินเพื่อทำฐานรากก็ต้องเผื่อความกว้างไว้รอบตัวอย่างน้อย 50 เซนติเมตร และต้องทำบ่อซับไว้ด้วย เพื่อรองรับน้ำฝนที่ไหลมาจากฐานราก แล้วจึงใช้เครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำออกไป
    • ถังเก็บน้ำใต้ดิน เมื่อฝนตกหนักมากมีโอกาสที่จะทำให้ดินที่ขุดไว้พังทลายได้ เราต้องป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ เช่น ถ้าต้องขุดดินที่มีระดับความลึกมากกว่า 2 เมตรขึ้นไป ต้องมีการลงแผงเหล็กกันดินเพื่อป้องกันดินถล่มด้วย
  2. ส่วนที่อยู่รอบๆ ไซต์งาน : ไม่ใช่แค่เรื่องสกปรกเท่านั้น แต่รวมถึงความยากลำบากในการขนส่ง การระบายน้ำ ซึ่งมีผลต่อการทำงานด้วย
    • การถมดิน ช่วงฤดูฝนมีปัญหาแน่นอนเพราะขนส่งได้ลำบาก เช่น รถติดหล่มมีผลทำให้งานก่อสร้างล่าช้า ฯลฯ
    • ถนนสกปรก รถบรรทุกดินหรือรถขนวัสดุก่อสร้างก่อนที่จะออกไปจากไซต์งานจะต้องล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ติดมากับล้อรถออกให้หมดฉะนั้นจึงควรเตรียมสถานที่ไว้สำหรับล้างรถโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้น้ำเจิ่งนอง
    • การระบายน้ำ เตรียมระบบระบายน้ำให้ดีเพื่อป้องกันการอุดตัน เช่น ต้องปิดฝาท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้เศษวัสดุก่อสร้างตกลงไป แต่ถ้าเกิดการอุดตันขึ้นจริง ๆ ต้องเตรียมคนงานมาช่วยจัดการลอกท่อ
  3. ความปลอดภัยจากไฟฟ้า :
    • คัตเอาต์หรือแผงสวิตช์ไฟ ที่ใช้ในงานก่อสร้างต้องอยู่ในบริเวณที่ฝนสาดไม่ถึง หรือมีอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันฝนสาด
    • สายไฟ ห้ามอยู่ติดกับพื้นดิน ควรมีเสาสูงมารองรับสายไฟ เพื่อช่วยป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า
  4. การจัดเก็บวัสดุ :
    • ปูน ห้ามโดนน้ำเด็ดขาด! ควรมีห้องเก็บที่ไม่เปียกฝน และมีการยกพื้นให้สูงขึ้นรอบตัวอีกอย่างน้อย 20 เซนติเมตร หรือเลือกใช้บริการคอนกรีตผสมเสร็จจากรถโม่
    • หิน มีน้ำหนักมาก ไม่ต้องห่วง เพราะไม่ไหลไปกับน้ำง่าย ๆ
    • ทราย อาจมีการไหลบ้าง ถ้ามีพื้นที่กว้างก็ไม่ต้องกังวลจนเกินเหตุ แม้ทรายจะจมไปกับพื้นก็โกยขึ้นมาใช้ใหม่ได้ แต่อย่าให้ไหลไปปนกับดิน! ส่วนกรณีพื้นที่แคบ ต้องตีบล็อกกันเพื่อไม่ให้ไหลไปกับน้ำ
  5. งานทาสี :
    • สีน้ำพลาสติก ให้ดูวันที่แดดดี ๆ เพราะทาประมาณครึ่งวันก็แห้งแล้ว
    • สีเคลือบเงา ถ้าอากาศไม่ดีก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะงานที่ได้ออกมาจะไม่ประณีต ต้องเสียเวลาแก้ไข
  6. ราคาค่าก่อสร้าง :
    • มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะผู้รับเหมาทำงานได้ลำบากในช่วงนี้โดยเฉพาะการทำฐานราก เนื่องจากต้องเตรียมเครื่องมือและคนงานให้พร้อมเพื่อรับมือกับฝน

 


ข้อมูลจาก : บ้านและสวน