การขอเลขที่บ้าน และเอกสารที่ใช้


ขั้นตอนการขอเลขที่บ้าน


การขอใช้บริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการขอใช้น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ และหลักฐานในการขอใช้บริการต่าง ๆ เหล่านั้นก็ต้องใช้หลักฐานของความเป็นบ้านยื่นประกอบกันด้วย นั่นก็คือ "ทะเบียนบ้าน" นั่นเองค่ะ

วันนี้ได้นำสาระและ ขั้นตอนการขอเลขที่บ้าน หรือ ขอบ้านเลขที่ใหม่ มาฝากกันนะคะ มาดูกันค่ะ ว่าการจะมีบ้านเลขที่สักหลังต้องมีขั้นตอนการขออย่างไร ยื่นที่ไหน และใช้เอกสารประกอบชนิดใดบ้าง


“ บ้าน” ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ. 2534 (รวมฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551)  หมายความว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย  ซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครอง  และให้หมายความรวมถึงแพ    หรือเรือซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำ   หรือสถานที่   หรือยานพาหนะ ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยประจำได้ด้วย
การขอเลขที่บ้าน  


เมื่อมีการปลูกสร้างบ้าน  เจ้าบ้านจะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อ ขอเลขที่บ้านภายใน  15 วัน  นับแต่วันที่สร้างเสร็จ เมื่อนายทะเบียนรับคำร้องพร้อมหลักฐานของผู้แจ้งครบถ้วนแล้ว  จะต้องตรวจสอบว่าบ้านที่ขอเลขที่นั้น มีลักษณะเป็นโรงเรียนหรือสิ่งปลูกสร้างที่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นประจำ (มีสภาพคงทนถาวร)หรือไม่ ถ้าถูกต้องกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านหรือนายทะเบียนจะกำหนดเลขที่บ้านให้แก่ผู้แจ้งภายใน 7 วัน(กรณีบ้านปลูกอยู่ในเขตเทศบาล)  หรือภายใน 30 วัน (กรณีบ้านปลูกอยู่นอกเขตเทศบาล)


ทะเบียนบ้าน คือ ทะเบียนบ้านที่นายทะเบียนออกให้บ้านแต่ละหลัง  กำหนดให้มีเลขประจำบ้าน(เลขที่บ้าน) ซึ่งปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร  หรือมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่ปลูกสร้างอาคาร


สถานที่ยื่นคำร้องขอเลขที่บ้าน

- ถ้าบ้านปลูกอยู่ในเขตเทศบาลที่ยังมีผู้ใหญ่บ้านอยู่ในเขตเทศบาล  เจ้าบ้านจะต้องแจ้งขอเลขที่บ้านต่อผู้ใหญ่บ้านเพื่อออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9)  สำหรับนำไปประกอบการยื่นคำร้องขอเลขที่บ้านที่งานทะเบียนราษฎรของทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลที่บ้านปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่  เพื่อแจ้งขอเลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้าน

- ถ้าบ้านปลูกอยู่นอกเขตเทศบาล  เจ้าบ้านจะต้องแจ้งขอเลขที่บ้านต่อผู้ใหญ่บ้าน  เพื่อออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) สำหรับนำไปประกอบการยื่นคำร้องที่งานทะเบียนราษฎรของสำนักทะเบียนอำเภอที่บ้านปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่  เพื่อแจ้งขอเลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้าน


หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอเลขที่บ้าน หรือทะเบียนบ้านใหม่

  1. ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ท.ร.9) ออกโดยผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันท้องที่ที่บ้านที่ปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ยื่นคำร้องพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ  จำนวน  1  ชุด
  3. เอกสารสิทธิ์แสดงการครอบครองที่ดินของบ้านที่ปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่  เช่น โฉนดที่ดิน  , น.ส.3 ,ส.ป.ก เป็นต้น  กรณีสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น  ต้องมีหนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินนั้นของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นประกอบด้วย  โดยใช้เอกสารดังนี้
    • หนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้าน  (กรณีสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น) โดยแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน/ผู้ที่มีชื่อร่วมกันในกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นๆทุกคน  ลงลายมือชื่อพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องเอกสารทุกฉบับ  จำนวน  1 ชุด
    • *หมายเหตุ*   กรณีเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเสียชีวิต  แนบสำเนามรณบัตรและให้ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินนั้นๆทุกคน มีหนังสือยินยอมให้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินโดยแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  และสำเนาทะเบียนบ้านพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละคน  จำนวนคนละ  1 ชุด
    • กรณียื่นในนามบริษัท , ห้างหุ้นส่วนจำกัด  ฯลฯ ต้องมีหนังสือรับรองการจัดตั้ง  หรือหนังสือรับรองโดยแนบสำเนาทะเบียนบ้าน  และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจลงนามทุกคน  ลงลายมือชื่อพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องเอกสารทุกฉบับ  จำนวน  1 ชุด
  4. ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร  หรือ  หนังสือรับรองสิ่งปลูกสร้าง
  5. หนังสือมอบอำนาจ  / มอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน  กรณีไม่สามารถมาติดต่อขอเลขที่บ้านด้วยตนเอง  พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มอบอำนาจ /มอบหมายและผู้รับมอบอำนาจ/มอบหมาย  รวมทั้งพยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงลายมือชื่อ  หรือลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือข้างขวาในหนังสือมอบอำนาจ/มอบหมาย  พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องให้ครบถ้วนทุกฉบับ  จำนวน  1  ชุด
  6. รูปถ่ายบ้านที่ปลูกสร้างเสร็จทั้ง 4 ด้าน (ด้านหน้า – ด้านหลัง - ด้านข้างซ้าย - ด้านข้างขวา) แต่สถานที่ที่รับแจ้งบางแห่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้นะคะ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการขอเลขที่บ้าน

  1. บ้านที่ปลูกสร้างนานไว้นานแล้วแต่ยังไม่มีเลขที่บ้านเจ้าบ้านสามารถขอเลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้านได้
  2. การปลูกสร้างบ้านในเขตท้องที่ที่ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร เช่น  ในเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น จะต้องแจ้งขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร  กรณีไม่ขออนุญาตปลูกสร้าง  นายทะเบียนจะกำหนดเลขที่บ้านและจัดทำทะเบียนบ้านชั่วคราวให้  ซึ่งการแก้ไขทะเบียนบ้านชั่วคราวให้เป็นทะเบียนบ้านปกติ  นั้น  สามารถทำได้โดยเจ้าของบ้านจะต้องไปทำเรื่องการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารให้เรียบร้อยแล้ว  จึงนำหลักฐานไปยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนเพื่อขอแก้ไขทะเบียนบ้าน
  3. บ้านที่ปลูกสร้างโดยการบุกรุกที่สาธารณะ  หรือปลูกในพื้นที่ป่าสงวน  สามารถขอเลขที่บ้านและสมุดทะเบียนบ้านได้  แต่จะเป็นทะเบียนบ้านชั่วคราว
  4. การไม่แจ้งขอเลขที่บ้านภายใน  15  วัน  นับแต่วันที่ปลูกสร้างบ้านเสร็จเป็นความผิด  มีโทษปรับไม่เกิน 1,000  บาท
  5. การกำหนดเลขที่บ้านของบ้านแต่ละหลังจะกำหนดให้เพียงหมายเลขเดียว  แต่ถ้าเป็นบ้านที่ปลูกเป็นตึกแถว  ห้องแถว  หรืออาคารชุด  จะกำหนดเลขที่บ้านให้ทุกห้องโดยถือว่าห้องๆหนึ่งคือบ้านหลังหนึ่งค่ะ

หมายเหตุ : ค่าธรรมเนียมในการยื่นขอทะเบียนบ้านหรือบริการเกี่ยวกับบ้าน สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานที่ยื่นขอ



 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก baansanruk.blogspot.com