ทำไมต้องใช้สถาปนิกออกแบบ


ทำไมต้องใช้สถาปนิก? รศ.ดร.ชวลิต นิตยะ (อดีตหัวหน้าภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ท่านให้คำตอบเชิงอุปมาอุปไมยไว้ว่า “เมื่อใดที่เราไม่สบาย เราก็ต้องไปหาหมอเพื่อหาทางรักษาตัวเรา..ฉันใดก็ฉันนั้น..เมื่อไรที่เราต้องการปลูกสร้างบ้านหรืออาคาร เราก็ต้องไปหาสถาปนิกเช่นกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเราเอง ครอบครัว หรือธุรกิจของเรา”

สถาปนิก คือ บุคคลผู้เกี่ยวข้องในการออกแบบ และวางแผนในการก่อสร้าง หรือที่เรียกว่างานสถาปัตยกรรม โดยสถาปนิก จะเป็นผู้ที่เข้าใจในมาตรฐานการก่อสร้างของอาคาร เข้าใจถึงหน้าที่ใช้สอยของอาคารนั้น รวมถึงวัสดุที่จะนำมาเป็นส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้างนั้น สถาปนิกจำเป็นต้องได้รับการศึกษาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ และได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ถึงจะสามารถทำงานในวิชาชีพสถาปนิกได้ ซึ่งคล้ายกับการทำงานในสาขาวิชาชีพอื่น (http://th.wikipedia.org)

บางท่านอาจยังสงสัยต่อไปว่า “แล้วบ้านหลังเล็กๆจำเป็นต้องใช้สถาปนิกออกแบบหรือไม่?” หรือสมควรจ้างสถาปนิกออกแบบก็ต่อเมื่ออยากจะสร้างโรงแรม โรงเรียน โรงงาน หรืออาคารหลังใหญ่ๆ เท่านั้น..ก็ขอตอบเลยว่า “สมควรว่าจ้างในทุกกรณีเลยครับ” เพราะสถาปนิกผู้ออกแบบทุกท่านมีความสามารถในการออกแบบได้ทุกขนาดพื้นที่ และหลากหลายประเภท ตามความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมา นอกจากนี้แล้วสถาปนิกจะยังทำหน้าที่เสมือนเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้านของท่าน ตั้งแต่เริ่มต้นวางแนวความคิด ไอเดียเริ่มต้นเพื่อออกแบบ ประมาณราคาก่อสร้าง แนะนำผู้รับเหมาก่อสร้าง ตรวจสอบงานก่อสร้างตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งแล้วเสร็จ หรืออธิบายง่ายๆ ว่าสถาปนิกจะทำงานควบคู่ไปกับท่านตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบจนจบกระบวนการก่อสร้างเลยทีเดียว

ค่าบริการวิชาชีพสถาปนิกไม่แพงอย่างที่คิด? หากท่านพิจารณาเปรียบเทียบมูลค่าของค่าแบบหรือค่าบริการวิชาชีพของสถาปนิกกับมูลค่าก่อสร้างโดยรวมของการก่อสร้างบ้านเรือนหรืออาคารก็ตาม จะพบว่าค่าบริการสถาปนิกมีสัดส่วนเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์ แต่ด้วยมูลค่าดังกล่าวสถาปนิกจะตอบแทนท่านในรูปแบบของการให้บริการที่คุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นการคืนกำไรให้ท่านจากการประหยัดเวลาการทำงาน ลดเวลาการก่อสร้าง การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม การประหยัดพลังงานในบ้านและอาคาร ลดค่าสูญเสียจากปัญหาการก่อสร้าง และอีกหลายต่อหลายเรื่อง เนื่องจากสถาปนิกเป็นผู้ที่มองภาพรวมของการออกแบบและก่อสร้างได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จึงสามารถวางแผนการดำเนินงานและประหยัดเวลาการทำงานได้เป็นอย่างดี ควบคุมงบประมาณการก่อสร้างไม่ให้บานปลาย ดังนั้นการประเมินค่าแบบหรือค่าแรงของสถาปนิกจากการนับจำนวนแผ่นพิมพ์เขียวหรือกระดาษไขเป็นฐานเพียงอย่างเดียว คงเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมต่อสถาปนิกเท่าใดนัก นอกจากนี้สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ยังได้กำหนดมาตรฐานค่าบริการวิชาชีพไว้ตามประเภทของงาน จึงมั่นใจได้ว่าท่านจะได้รับการบริการที่เหมาะสมอย่างแน่นอน

เมื่อทราบดังนี้แล้ว..หากท่านต้องการจะสร้างบ้านหรืออาคารซักหลังนึง ขอแนะนำให้ตีสนิทกับสถาปนิกซักคนและสอบถามเพื่อเพิ่มความเข้าใจ เชื่อว่าท่านจะได้แนวความคิดที่เหมาะสมอย่างแน่นอนครับ


ข้อมูลจาก: ms-in-cons.com