5 วิธีแก้ปัญหา เมื่อฝ้าเพดานในห้องต่ำเกินไป

 


Chatsittichai Civil Website บริษัท ฉัตรสิทธิ์ติชัย การโยธา จำกัด :  รับต่อเติมบ้าน รับต่อเติมห้องครัว รับสร้างบ้านรังสิต ต่อเติมครัว สร้างบ้านรังสิต-นครนายก รับต่อเติมครัว ทาวน์โฮม รับเหมาต่อเติมนครนายก  รับเหมาก่อสร้างกรุงเทพและปริมณฑล

 



วิธีแก้ปัญหา เมื่อฝ้าเพดานในห้องต่ำเกินไป


โดยเฉลี่ยฝ้าเพดานที่เหมาะสมสำหรับห้องทั่วไปควรมีความสูงประมาณ 2.4-2.8 เมตร หากสูงกว่านี้อาจส่งผลให้การตกแต่งภายในสิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้นและเปลืองค่าไฟกรณีติดตั้งแอร์ เว้นแต่เป็นห้องที่ตั้งใจออกแบบให้สูงโปร่งเป็นพิเศษอย่างห้องนั่งเล่นแบบ Double Space ส่วนระดับความสูงฝ้าที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ อยู่ที่ 2-2.3 เมตร หากจัดสรรพื้นที่ไม่ดี ย่อมทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกอึดอัด เหมือนมีอะไรมากดทับและนั่นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดศรีษะอยู่เสมอ งานนี้นอกจากจะช่วยเลือกบ้านให้แล้ว ต้องช่วยเพื่อนแก้ปัญหาห้องฝ้าต่ำอีกด้วย จึงหยิบยกแนวทางแก้ไขดังกล่าวมาให้ผู้อ่านได้นำไปประยุกต์ใช้กัน


1. เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ต่ำ

เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ต่ำเฟอร์นิเจอร์ประเภทโซฟานั่งเล่น เตียงนอน มีหลายระดับให้เลือกสรร สำหรับห้องที่มีฝ้าเพดานต่ำ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีระดับต่ำเช่นกัน เฟอร์นิเจอร์ต่ำจะช่วยให้ในขณะนั่งหรือนอน เกิดระยะห่างระหว่างผู้อยู่อาศัยกับระดับฝ้ามากขึ้น ส่งผลให้ความรู้สึกอึดอัดลดน้อยลง ในด้านความสวยงามยังทำให้ห้องดูสมดุลยิ่งขึ้น เฟอร์นิเจอร์จะไม่รู้สึกตั้งขวางมากเกินไป

กรณีเตียงนอน หากต้องการให้ดูโปร่งมากที่สุด ควรใช้เตียงนอนที่มีความสูงระดับพื้น ผู้อ่านอาจจะเลือกวิธีการ Buit-in เตียงนอนเพื่อใช้เป็นตู้เก็บของไปในตัว จะช่วยให้การใช้พื้นที่มีระบบ ระเบียบ และดูโปร่งกว้างยิ่งกว่าเดิม



2. เปิดผนังให้กว้าง สูงจรดฝ้า

สิ่งที่ทดแทนความโปร่งได้ดีคือช่องหน้าต่าง โดยช่องหน้าต่างสำหรับห้องฝ้าต่ำควรเป็นลักษณะหน้าต่างที่มีความกว้างและสูง ยิ่งสูงจากพื้นจรดฝ้าเพดานได้จะยิ่งดีมากครับ เพราะธรรมชาติของมนุษย์สายตาของเราจะโฟกัสไปที่แสงสว่างก่อนเสมอ เมื่อเดินเข้ามาภายในห้องฝ้าเพดานต่ำ สายตาจะเล็งไปที่ช่องหน้าต่าง ผู้อยู่อาศัยจะมองเห็นไปถึงบริเวณนอกบ้าน ปัจจัยเหล่านี้ช่วยลดความอึดอัดให้ห้องได้เป็นอย่างดี

และควรติดตั้งม่านสีขาวที่มีความโปร่งเพิ่มเติม โดยเลือกม่านที่มีขนาดสูงจากฝ้าเพดานจรดพื้นห้อง ประจวบกับลักษณะของม่านปกติจะมีเส้นสายแนวตั้งที่เกิดจากการรูดม่านเสมอ เส้นดังกล่าวและความสูงของม่านจะช่วยให้ห้องดูสูงขึ้น และจะยิ่งดูสูงมากขึ้นอีกเมื่อออกแบบให้ฝ้าเพดานมีระบบรางซ่อนม่าน ม่านจะดูลึกเข้าไปหลอกสายตาให้สมองรู้สึกว่า ยังมีพื้นที่ซ่อนอยู่ภายใน



3. เลือกสีให้เหมาะ หรือเล่นลายผนังแนวตั้ง

อีกหนึ่งวิธีหลอกสมองให้ดูโปร่ง คือการเลือกทาสีและลวดลายของผนัง โดยสีห้องควรเลือกสีโทนอ่อนหรือสีขาว เพื่อให้ห้องดูกว้างขึ้นและฝ้าเพดานดูกลืนไปกับผนังห้อง กรณีต้องการเล่นลวดลายให้ผนัง ควรเลือกลายแนวตั้ง เพื่อหลอกสายตาให้ผนังห้องดูสูงขึ้นครับ

อีกวิธีเป็นการฉีกกฎจากสีอ่อน คือ เลือกทาฝ้าสีดำมืดและกรุด้วยงานไม้ ความมืดดำของฝ้าเพดานจะช่วยให้รู้สึกถึงความลึกมากกว่าที่เป็นครับ


4. รื้อฝ้าเพดานออก

หากความต่ำเตี้ยเรี่ยดินเป็นอุปสรรคต่อการอยู่อาศัย อีกหนึ่งวิธีที่หลายบ้านนำไปใช้บ่อย โดยเฉพาะห้องคอนโดมิเนียม หรือภายในบ้านที่มีพื้นคอนกรีตชั้นบนมารองรับ สามารถรื้อฝ้าเพดานเดิมออกและตกแต่งในลักษณะฝ้าเปลือย ซึ่งจะเหมาะกับห้องสไตล์ Loft, Industrial, Retro วิธีการนี้จะช่วยให้ได้ความสูงฝ้าเพดานสูงขึ้นอีกประมาณ 20-40 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างฝ้าเพดานและใต้ท้องพื้นชั้นบนครับ

กรณีชั้นบนเป็นหลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา สามารถทำฝ้าเพดานใหม่ โดยออกแบบให้ฝ้าระนาบไปกับองศาหลังคา จะช่วยเพิ่มความสูงให้ฝ้าเพดานเช่นกันครับ



5. ตู้เสื้อผ้า สูงจรดฝ้าเพดาน

การ Built-in เฟอร์นิเจอร์ เป็นวิธีการใช้งานพื้นที่ห้องให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด สำหรับห้องที่มีฝ้าเพดานต่ำ หากนำตู้เสื้อผ้าแบบลอยตัวมาจัดวางไว้ จะยิ่งทำให้ห้องดูคับแคบ อึดอัด และบนตู้เกิดชอบแคบเล็ก ๆ เป็นจุดกักเก็บฝุ่น แต่หากสั่งทำ Built-in ให้ตู้แนบผนังสูงจรดฝ้า วิธีการนี้จะช่วยให้ห้องดูโปร่งขึ้น และเส้นสายของบานประตูตู้ลักษณะแนวตั้ง จะยิ่งช่วยให้ห้องดูสูงขึ้นด้วยเช่นกันครับ


ต้นเหตุของฝ้าเพดานที่สูงของบ้านทาวน์โฮมที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างมานี้ เกิดขึ้นจากข้อกฎหมายผังเมืองที่จำกัดขนาดความสูงของอาคาร ผู้ออกแบบจึงเลือกวิธีลดความสูงของฝ้าเพดานเพื่อให้สามารถสร้างบ้านหลายชั้นได้ อย่างไรก็ตาม..การออกแบบบ้านที่ดีควรมีขนาดสัดส่วนต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยตั้งแต่ต้น มิเช่นนั้นหากผู้อยู่อาศัยไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ย่อมส่งผลกระทบกับชีวิตและความเป็นอยู่อย่างมาก การออกแบบบ้านหนึ่งหลัง จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับงานออกแบบ เพื่อให้สัดส่วนต่าง ๆ ของบ้านมีความสมดุล ลงตัว พอเหมาะ พอดีกับผู้อยู่อาศัยครับ


ติดตามผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์


ขอบคุณข้อมูล banidea.com