เลือกกระจกอย่างไร? ประหยัดพลังงาน ประหยัดเงิน

Chatsittichai Civil Website บริษัท ฉัตรสิทธิ์ติชัย การโยธา จำกัด :  รับต่อเติมบ้าน บางพลี สร้างบ้าน สมุทรปราการ รับเหมาต่อเติมบ้าน กรุงเทพ รับต่อเติมบ้าน บางพลี  รับเหมาก่อสร้าง สร้างโรงงาน สร้างบ้าน สมุทรปราการ




เลือกกระจกอย่างไร? ประหยัดพลังงาน ประหยัดเงิน

กระจกที่นิยมใช้ในอาคารพักอาศัยมีหลายประเภทซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ดังที่ได้กล่าวถึงแล้วในบทความตอน “กระจกสำหรับบ้านพักอาศัย” สำหรับในตอนนี้จึงจะขอพูดถึงกระจกที่จะเลือกใช้เพื่อการประหยัดพลังงาน หรือที่เรียกว่ากระจกอนุรักษ์พลังงานนั่นเอง สิ่งสำคัญในการเลือกใช้กระจกอนุรักษ์พลังงาน ต้องพิจารณาดังต่อไปนี้

ค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากรังสีอาทิตย์ (Solar Heat Gain Coefficient, SHGC) เป็นค่าความร้อนที่เกิดจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มาในลักษณะคลื่น เมื่อคลื่นความร้อนที่มากระทบผิวนอกกระจกเต็มพื้นที่ หรือ 100% ของกระจกแผ่นนั้นๆ จะยอมให้มีคลื่นความร้อนผ่านกระจกเข้าไปด้านในอาคารได้กี่เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างเช่น กระจกที่มีค่า SHGC = 0.55 นั่นคือ คลื่นความร้อนสามารถผ่านกระจกเข้ามาในอาคารได้ 55% ของคลื่นความร้อนทั้งหมด โดยค่า SHGC ตามมาตรฐานของกระจกอนุรักษ์พลังงานต้องมีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.55

 

คลื่นความร้อนจะประกอบด้วย 3 ส่วน  

1) ความร้อนที่ผ่านกระจกเข้ามาโดยตรง (Solar Transmission) 

2) ความร้อนที่สะท้อนออกมาจากผิวของกระจกที่ดูดซับไว้ (Solar Reflectance) 

3) ความร้อนที่ดูดซับไว้ในเนื้อกระจก (Solar Absorptance) 

 

ค่าการส่งผ่านของแสงธรรมชาติ (Visible Light Transmission, VLT) เป็นค่าที่บ่งบอกถึงปริมาณแสงธรรมชาติที่ผ่านกระจกเพื่อการมองเห็นจะแสดงค่าเป็นเปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่น กระจกที่มีค่า VLT = 0.7 (หรือ 70%) ก็หมายความว่าแสงธรรมชาติที่มากระทบ 100% กระจกชนิดนี้ยอมให้แสงธรรมชาติผ่านเข้ามาได้เพียง 70% นั่นเอง การเลือกใช้กระจกควรพิจารณาค่าการส่งผ่านของแสงธรรมชาติให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน ควรมีค่าสูงๆ เพื่อเพิ่มความรู้สึกสบายตาและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของระบบแสงสว่างภายในบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย


ค่าการส่งผ่านของแสงธรรมชาติต่อสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Light to Solar Gain, LSG) เป็นค่าอัตราส่วนการส่งผ่านของแสงธรรมชาติ (VLT) ต่อค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนจากรังสีอาทิตย์ (SHGC) คือ VLT/SHGC การเลือกใช้กระจกอนุรักษ์พลังงานต้องมีค่า LSG มากกว่าหรือเท่ากับ 1.2 

ค่า SHGC ของกระจกยิ่งต่ำยิ่งดี แต่ควรพิจารณาประกอบกับค่าการส่งผ่านของแสง (VLT) ด้วย ค่ายิ่งมากยิ่งดี

ค่า SHGC, VLT และ LSG ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นค่าที่จำเป็น ต้องพิจารณาในการเลือกใช้กระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อการตัดสินใจที่ง่ายขึ้น ในประเทศไทยได้มีการกำหนดมาตรฐานฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงสำหรับกระจก เบอร์ 5 ขึ้นมา เป็นกระจกที่ได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ว่าเป็นกระจกที่ช่วยในการประหยัดพลังงานได้ในระดับสูง มีประสิทธิภาพในการลดความร้อนที่ผ่านเข้ามาทางกระจก แต่ยังคงให้แสงสว่างผ่านเข้ามาในระดับที่ดี


ค่ามาตรฐานของกระจกเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีค่า

SHGC ≤ 0.55, LSG ≥ 1.2 ดังนั้นการเลือกใช้กระจกประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง เบอร์ 5 จะสามารถลดภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศและลดการใช้ไฟฟ้าในระบบแสงสว่างได้มากอีกด้วย ตัวช่วยในการเลือกกระจกสามารถสังเกตที่ฉลากกระจกประหยัดพลังงาน เบอร์ 5 ก่อนตัดสินใจ ฉลากกระจกประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง เบอร์ 5 ภายในฉลากจะระบุประเภทของกระจก ยี่ห้อ รุ่น ชนิด ความหนาของกระจก ค่าSHGC และค่า LSG โดยค่าประสิทธิภาพจะเปลี่ยนแปลงไปตามผลการทดสอบของกระจกรุ่นนั้นๆ


เลือกกระจกอย่างไร? ประหยัดพลังงาน ประหยัดเงิน

กระจกที่สามารถนำมาใช้กับบ้านพักอาศัยมีหลายชนิด เช่น กระจกสีตัดแสง (Tint Glass) กระจกสะท้อนแสง (Reflective Glass) กระจกโลว์อี (Low-E Glass) ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน หากไม่นำเรื่องราคามาใช้พิจารณาในการเลือก กระจก Low-E แบบฉนวนอินซูเลท จะสามารถลดภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศและลดค่าไฟจากการเปิดไฟในอาคารได้เป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากราคาที่สูงและต้องมีระบบเฟรมที่รองรับกระจกที่หนาขึ้น จึงไม่เป็นที่นิยมสำหรับบ้านพักอาศัยหรือคอนโด 

 

กระจกที่นิยมใช้กับบ้านพักอาศัย คือ กระจกสีตัดแสง เป็นกระจกที่ราคาไม่แพงและคุ้มค่ากับประสิทธิภาพที่ได้รับแต่ข้อเสียของกระจกชนิดนี้คือ กระจกจะดูดซับความร้อนไว้ในตัวกระจกค่อนข้างสูงและจะค่อยๆ คลายความร้อนออกมาตลอดเวลา หากถูกแสงแดดโดยตรงเป็นเวลานานๆ กระจกมีโอกาสที่จะแตกเองได้ กรณีนี้ถ้าเลือกใช้กระจกสีที่ทำเทมเปอร์จะช่วยให้กระจกทนความร้อนได้และตัดปัญหากระจกแตกจากการดูดซับความร้อนได้

 


กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน